ส่งฟรีในเขตกรุงเทพฯ
จ.-ศ. 7.00-22.00 / ส-อา. 8.00-21.00
เชื่อว่าทุกคนเคยทำวงล้อสีหน้าตาแบบนี้ ในวิชาศิลปะตอนเด็กๆ มาแล้ว แต่คงมีไม่กี่คนที่ทราบว่า เราใช้วงล้อนี้ในชีวิตประจำวันตลอด เสื้อผ้าที่เราซื้อ เฟอร์นิเจอร์ หนังที่เราดู ของสวยๆ งามๆ ล้วนถูกออกแบบมาอย่างมีหลักการ วันนี้เพื่อให้เข้ากับวาเลนไทน์ที่จะมาถึง เราลองมาจัดหรือเลือกช่อดอกไม้วาเลนไทน์ให้แฟน โดยอิงจากทฤษฎีสีกันเถอะ
หนึ่งในวิธีพื้นฐานที่สุดในการเลือกสี คือการใช้สีสองสีที่อยู่ตรงข้ามกันบนวงล้อ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Complementary Color’ และภาษาไทยเรียกว่า ‘สีคู่ตรงข้าม’ โดยวิธีการจับคู่คือการลากเส้นจากสีหนึ่งไปตรงๆ เส้นนั้นไปบรรจบที่สีใด สองสีนั้นก็เป็นคู่กัน ดังเช่นรูปด้านบน
แต่การใช้สีคู่ตรงข้ามในงานออกแบบนั้น ส่งผลได้ทั้งเกิดและดับ วันนี้เราเลยจะมาสอนวิธีใช้แบบง่ายๆ เบื้องต้น ว่าจะจัดการกับสีอย่างไรให้เกิด ด้วยตัวอย่างช่อดอกไม้จาก www.fruitnflora.com/flower-bouquets/valentines แล้วจะรู้เลยว่า สีของดอกไม้ กระดาษ ริบบิ้นพวกนี้ เขาไม่ได้มาเล่นๆนะจ๊ะ
ตัวอย่างที่ง่าย และเห็นได้บ่อยที่สุด ก็คือช่อกุหลาบสีแดง ที่ตัดกับใบไม้สีเขียวได้สวยงาม โดดเด่น แต่ไม่ใช่ว่าเมื่อจับคู่สีเป็นแล้ว คุณจะสามารถใช้สีอย่างตามใจชอบได้ ควรจะคำนึงถึงเสมอว่า ให้เลือกสีใดสีหนึ่งเป็นผู้นำ และอีกสีเป็นตัวขับให้สีตรงข้ามของตนโดดเด่นขึ้นมา เพราะถ้าใช้สองสีเท่าๆกัน ช่อดอกไม้ หรืออะไรก็ตามที่คุณสร้างสรรค์อยู่ จะกลายเป็นสิ่งที่มองแล้วปวดตาจนต้องเบือนหน้าหนีเลยทีเดียว
จะเห็นว่าการที่ความเข้มข้นของสีทั้งสองตัดกัน สร้างได้ทั้งความสวยจับใจ และความอึดอัด เพราะการใช้สองสีที่ตัดกันมากในปริมาณเท่าๆกันแบบช่อด้านขวา จะกลายเป็นรบกวนสายตา ไม่มีจุดโฟกัส เพราะทุกๆส่วนต่างแย่งกันรับความสนใจจากสายตาของเรา แต่หากจัดสัดส่วนของสีได้อย่างถูกต้อง ไม่เพียงแต่ความหมายของกุหลาบแดง ที่ทำให้ช่อดอกไม้นี้ทรงพลัง แต่สีที่ถูกขับยังสะดุดตา เย้ายวนชวนให้มอง จึงไม่สงสัยเลยว่าทำไมช่อกุหลาบแดงแซมเขียวจึงเป็นช่อดอกไม้วาเลนไทน์ที่คลาสสิกตลอดกาล
วิธีหนึ่งที่จะทำให้ผลงานซอฟท์ลง สำหรับคนชอบความฟรุ้งฟริ้ง ต้องขอยืมคำพูดเพจดัง “ทุกอย่างดูซอฟท์เมื่อเป็นพาสเทล” มาใช้ คือถ้าเป็นการระบายสี คุณก็ผสมสีขาวลงไปในสีแท้ที่ใช้ ส่วนการจัดดอกไม้ก็หันไปใช้ดอกไม้สีชมพูแทนสีแดงนั่นเอง
และเพื่อเป็นหลักฐานว่าคู่สีแดง-เขียวนี้ ถ้าจัดการพวกมันอย่างถูกต้องแล้วจะเกิดแค่ไหน เรามาดูตัวอย่างการใช้สองสีนี้ในสิ่งอื่นๆกัน
นักจัดดอกไม้จัดแต่งกุหลาบสีขาวบริสุทธิ์ ให้ดูน่าสนใจและเพิ่มความลุ่มลึกขึ้นด้วยกระดาษห่อสีม่วง และริบบิ้นสีเขียวเฉดเดียวกับใบไม้ โดยทั้งสองสีต่างก็มีความเข้มกว่าสีบนวงล้อ เพราะหลายครั้งในการใช้คู่สี เราควรเปลี่ยนเฉดอย่างน้อยหนึ่งสี เพื่อให้ผลงานออกมามีมิติ สบายตาน่ามองมากขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้สีแท้จากวงล้อทั้งหมดเลยนั้นก็พอทำได้ แต่จะควบคุมค่อนข้างยาก และที่สำคัญมันอาจไม่เหมาะกับการเป็นช่อดอกไม้วาเลนไทน์นัก
ดอกไม้ช่อนี้เหมาะกับใคร? สีม่วงให้สัมผัสของความน่าค้นหา ความมีเสน่ห์ เมื่อมาอยู่กับสีเขียวเข้มแล้วก็ยิ่งสะกดสายตา เหมาะที่จะเป็นช่อดอกไม้วาเลนไทน์สำหรับเขาหรือเธอที่มีทั้งความเท่ ความไม่เหมือนใคร ลุ่มลึก ฉลาด แฝงไปด้วยความเซ็กซี่และอารมณ์ขัน ถ้าเป็นสาวๆ ก็ออกเป็นสาวเปรี้ยวมั่นใจในตัวเอง
ลองสังเกตดูนะคะว่า สองสี้นี้อยู่ด้วยกันทีไร มันจะดูเท่ตลอดเลยล่ะ
จากคู่สีส้ม-น้ำเงิน ช่างจัดดอกไม้เลือกใช้กระดาษสีน้ำเงินสด เบรกให้ซอฟท์ลงด้วยผ้าตาข่ายสีฟ้าอ่อน ห่อดอกกุหลาบสีโอลด์โรส หรือสีส้มเจือชมพู แทนที่จะใช้สีส้มจัดไปเลย ทำให้ช่อดอกไม้วาเลนไทน์ช่อนี้ยังคงความหวานและอ่อนโยนไว้อยู่ โดยคู่สีนี้ให้อารมณ์สนุกสนาน ร่าเริง เหมาะกับทั้งชายหนุ่ม และสาวๆที่ไม่หวานมาก เพื่อบอกกับเขาหรือเธอว่า ขอบคุณที่ทำให้ฉันมีเสียงหัวเราะได้ทุกวัน
ถ้าจะอธิบายให้ยากขึ้นอีกสเต็ป ช่อนี้ใช้หลักการ 4 สีก็ว่าได้ จะเห็นว่านอกจากสีส้มกับน้ำเงินแล้ว ยังมีสีเขียวของใบไม้ แซมดอกสแตติสสีม่วง และใช้ริบบิ้นสีม่วงด้วย การใช้ 4 สีแบบนี้เรียกว่า ‘Rectangle’ หรือ ‘Tetradic’ เป็นการใช้คู่สี 2 คู่ร่วมกัน ที่เมื่อลากเส้นในวงล้อสีแล้วก็จะได้สี่เหลี่ยมดังรูปด้านล่าง โดยถ้าเราหมุนสี่เหลี่ยมนั้นไปเรื่อยๆ เราก็จะได้สีสวยๆอีกหลายเซ็ตทีเดียว
มาดูตัวอย่างสวยๆ จากคู่สีส้ม-น้ำเงินกัน